หลายคนอาจเคยสงสัยว่าใส่รองเท้าวิ่งเตะบอลได้หรือเปล่า คำตอบคือได้แต่ว่าไม่ควร เพราะรองเท้าวิ่งถูกออกแบบมาให้ซัพพอร์ตการเคลื่อนไหวของเท้าที่ยกและวางกลับลงตำแหน่งเดียวกันขณะวิ่ง ต่างจากเวลาเตะบอลที่ร่างกายจะเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วและหลายทิศทาง ถ้าไม่ใส่รองเท้าคุณภาพดีอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ และที่สำคัญคือรองเท้าวิ่งมีหลายคุณสมบัติที่ต่างไปจากรองเท้าบอลแต่จะต่างกันยังไงนั้น อ่านด้านล่างได้เลย
ความแตกต่างระหว่างรองเท้าฟุตบอลและรองเท้าวิ่ง
วัสดุ
รองเท้าฟุตบอลยุคแรกส่วนใหญ่จะทำจากหนัง แต่พอเวลาผ่านไปก็เริ่มพัฒนาไปใช้วัสดุใหม่ ๆ บ้าง อย่างทุกวันนี้รองเท้าฟุตบอลมักจะใช้เส้นใยสังเคราะห์ โดยอาจจะมีแซมหนังเข้ามาบ้างในบางรุ่น ส่วนรองเท้าวิ่งจะผลิตจากวัสดุหลายชนิด โดยพื้นรองเท้ามี 3 ชั้นด้วยกันคือ insole (พื้นรองเท้าด้านใน) midsole (พื้นรองเท้าชั้นกลาง) และ outsole (พื้นรองเท้าด้านนอก) พื้นรองเท้าด้านในส่วนใหญ่จะเป็นแผ่นโฟม EVA ที่มีความยืดหยุ่นสูง ส่วนพื้นรองเท้าชั้นกลางซึ่งมีหน้าที่ช่วยรองรับแรงกระแทกจะใช้วัสดุต่างกันออกไปตาม แต่ละยี่ห้อ แต่ส่วนมากจะใช้โพลียูรีเทนล้อมรอบด้วยวัสดุอื่น ๆ
อย่างเจลหรือซิลิโคนเหลว หรือไม่ก็เป็นโฟมโพลียูรีเทนผลิตขึ้นพิเศษและตั้งชื่อตามแบรนด์เลย
ดีไซน์
รองเท้าฟุตบอลมีทั้งแบบหุ้มข้อและครึ่งข้อ แต่เวลาแข่งนักบอลควรรู้สึกเบาเท้าและวิ่งได้คล่องตัวที่สุด ทำให้รองเท้าสตั๊ดส่วนใหญ่เป็นทรงเตี้ยเพราะช่วยให้ขยับข้อเท้าได้สะดวกกว่า โดยมักจะมาใน 3 ดีไซน์ด้วยกันคือ ทรงเตี้ยเหมือนรองเท้าเทนนิสและรองเท้าสตั๊ดทั่วไป ทรงครึ่งข้อ และทรงหุ้มข้อคล้ายกับรองเท้าบาส
ซึ่งแน่นอนว่ายิ่งข้อสูงเท่าไรรองเท้าก็จะมีน้ำหนักมากขึ้นเท่านั้น แต่ก็มีข้อดีคือช่วยซัพพอร์ตข้อเท้าได้มากขึ้น ส่วนประกอบของรองเท้าแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนหลัก ๆ คือ ส่วนบนของรองเท้า (Upper) กับส่วนพื้นรองเท้า (Sole unit)
ส่วนบนของรองเท้า: ส่วนบนของรองเท้าวิ่งส่วนใหญ่จะใช้วัสดุผ้าตาข่ายสังเคราะห์ แต่อาจจะมีผ้า ผ้าทอ หนังและพลาสติกผสมอยู่ด้วย
ส่วนพื้นรองเท้า: พื้นรองเท้าประกอบไปด้วยดอกยางใต้รองเท้า พื้นรองเท้าด้านนอกและพื้นรองเท้าชั้นกลาง
ระดับการซัพพอร์ต
ส้นเท้าจะรับแรงกระแทกอย่างสูงทุกครั้งที่ก้าวเท้าขณะกำลังวิ่ง ทำให้เวลาวิ่งไปนาน ๆ อาจเกิดอาการบาดเจ็บ ปวดหรือเมื่อยกล้ามเนื้อได้ เลยจำเป็นมากที่จะต้องเลือกรองเท้าที่มีแผ่นรองส้นเพื่อช่วยรองรับแรงกระแทกเวลาวิ่งบนพื้นผิวแข็ง ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในการเจ็บตัวได้ รองเท้าฟุตบอลส่วนใหญ่จะไม่ได้ใส่แผ่นรองส้นมาหนามาก เพราะมันไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ใส่วิ่งโดยเฉพาะ และส่วนใหญ่เวลาแข่งฟุตบอลก็จะวิ่งกันบนพื้นหญ้าหรือหญ้าเทียม ทำให้ไม่ค่อยได้เจอแรงกระแทกหนัก ๆ เหมือนเวลาวิ่งบนพื้นแข็งอย่างพื้นซีเมนต์
ความกระชับ / ความพอดี
อีกหนึ่งข้อแตกต่างที่สำคัญระหว่างรองเท้าวิ่งกับรองเท้าฟุตบอลคือความกระชับเท้า รองเท้าบอลส่วนใหญ่จะมีน้ำหนักค่อนข้างเบา เพราะทำให้คล่องตัววิ่งได้ไวและลดความเมื่อยล้าได้ ซึ่งจำเป็นมาก ๆ สำหรับนักบอลที่ต้องวิ่งเกิน 45 นาทีต่อการแข่งขัน 1 แมทช์ แต่การเลือกรองเท้าวิ่งที่ดีให้ใส่สบายและกระชับเท้าก็เป็นเรื่องยาก เพราะที่จริงแล้วรองเท้าวิ่งไม่ควรจะพอดีเท้าจนเกินไป เพราะคุณไม่ได้จะใส่มันเตะบอลควรจะเลือกคู่ที่ใส่แล้วสบายเท้ามากกว่า อย่าเลือกคู่ที่แน่นติดเท้าเหมือนเวลาเลือกซื้อรองเท้าฟุตบอล
หนามใต้รองเท้า
อีกหนึ่งองค์ประกอบที่แยกรองเท้าฟุตบอลออกจากรองเท้าวิ่งอย่างชัดเจนคือหนามใต้รองเท้า (หรือที่เรียกกันว่าสตั๊ด) เวลาวิ่งในสนามหญ้าระหว่างแข่งบอล นักบอลต้องเคลื่อนตัวพาลูกบอลไปถึงโกล์ฝั่งตรงข้ามให้เร็วที่สุด แต่แน่นอนว่าระหว่างทางก็ต้องมีวิ่ง ๆ หยุด ๆ ทำให้จำเป็นต้องมีใบมีดหรือหนามใต้รองเท้าเพื่อให้เกาะดินและหญ้าในสนามได้ดีขึ้น
การระบายอากาศ
จริงอยู่ว่าการระบายอากาศเป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับทั้งรองเท้าฟุตบอลและรองเท้าวิ่ง แต่รองเท้าวิ่งควรจะมีการระบายอากาศที่ดีกว่าเพราะคุณใส่มันทั้งวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณเป็นนักวิ่งมาราธอน ส่วนรองเท้าฟุตบอลแค่พอมีอากาศถ่ายเทบ้างก็โอเคแล้ว ไม่ได้เป็นคุณสมบัติที่จำเป็นเท่ากับรองเท้าวิ่ง เพราะการแข่งขันฟุตบอลไม่ได้ใช้เวลานานขนาดนั้น
บทสรุป
จากการเปรียบเทียบด้านบนก็สรุปได้ว่ารองเท้าฟุตบอลถูกออกแบบมาให้ทั้งดีไซน์และโครงสร้างเหมาะสำหรับใช้เล่นบอลเป็นหลัก ส่วนรองเท้าวิ่งก็ถูกออกแบบมาให้ใช้วิ่งบนพื้นแข็งได้เป็นเวลานาน เลยมักจะใส่สบายและช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดการบาดเจ็บของเท้า ดังนั้นก่อนเริ่มทำแต่ละกิจกรรมควรเลือกรองเท้าให้เหมาะสมกับการใช้งาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและไม่เสี่ยงเจ็บตัว
ที่มา: proreview.co, Wikipedia
2001-2024 RED ARMY FANCLUB Official Manchester United Supporters Club of Thailand. #ThaiMUSC